วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคการถ่าย พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และ พระอาทิตย์ตกยามเย็น เทคนิคการถ่าย พระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า และ พระอาทิตย์ตกยามเย็น

     ช่วงเวลาแห่งการรอคอยของบรรดานักถ่ายภาพ คือ ช่วงเวลาที่ตะวันใกล้จะลับขอบฟ้า หรือใกล้จะโผล่มาสวัสดียามเช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่มักจะได้ภาพสวยๆ ท่ามกลางบรรยากาศรอบข้างไม่ว่าจะเป็นผืนน้ำในทะเล หมอกยามเช้าบนภูเขา หรือแม้กระทั่ง พระอาทิตย์ขึ้นที่ยอดตึก
          
    หลังจากต้องต่อสู่กับความง่วงนอนยามเช้า หรือความเหนื่อยล้า ที่ตะลุยเที่ยวกันทั้งวัน ก่อนอื่น ในช่วงเวลาที่นั่งพักผ่อน รอช่วงนาทีทอง เรามาปรับโหมดการถ่ายภาพกันก่อน โหมดที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก และขึ้น สามารถใช้โหมดอะไรก็ได้ ตามความถนัดของแต่ละคน หรือจะเลือกโหมด SCN พระอาทิตย์ตกดิน แต่สิ่งสำคัญ สำหรับการถ่ายภาพแนวนี้ นั่นคือการวัดแสง เพราะปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ สีสันท้องฟ้า ไม่สดเหมือนที่ตาเห็น หรือระอาทิตย์ก็ขาวโอเวอร์จนมองไม่เห็นเส้นขอบวงกลม การแก้ปัญหา เป็นเรื่องไม่ยาก เพียงต้องรู้เวลา และวัดแสงในจุดที่เราต้องการให้คงรายละเอียด เช่นถ้าต้องการให้เห็นเส้นขอบพระอาทิตย์ ก็วัดแสงที่ขอบดวงอาทิตย์ แต่ต้องในเวลาที่แสงไม่จ้าเกินไป และหากต้องการให้สีสันของท้องฟ้ายังคงสดเท่าที่ตาเห็น ก็ให้กล้องวัดแสงที่ท้องฟ้านั่นเองค่ะ
         
    เมื่อเช็ทค่ากล้อง วัดแสง สร้างสีสันให้ได้ตามจินตนาการ หรือตามที่ตาเรามองเห็นกันแล้ว แต่จะเก็บภาพอย่างไร ให้สวยน่าประทับใจ วันนี้ ได้รวบรวมเทคนิคต่างๆ ในการถ่ายภาพลักษณะนี้มาฝากค่ะ
  


  แสงโทนอุ่นสีทอง สาดส่องมุมด้านข้าง ทำให้การถ่ายภาพดูมีมิติ

     ใส่ใจกับการถ่ายภาพ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน 
 
   ช่วงเวลา ที่แสงทำมุมเฉียง ก่อนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้า สร้างภาพที่อยู่ตรงหน้าให้มีมิติ ไม่ว่าจะถ่ายตามแสง ย้อนแสง มักได้ภาพที่ดีเสมอ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยที่จะถ่ายภาพในช่วงเวลานี้ แต่อย่าเพลิน จนลืมเซฟแบตเตอรี่ไว้ถ่ายจุดไคลแมกซ์ ตอนพระอาทิตย์ตกด้วยหละ
 
     ภาพแบบ Silhouette ภาพที่เกิดเงาดำ ช่วยเน้นให้ท้องฟ้าเด่น




    ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์คล้อยต่ำ จนไม่สามารถสาดส่องพื้นดินให้สว่างได้นั้น ความแตกต่างของแสงระหว่างท้องฟ้า กับผืนโลกจะมากขึ้น จนทำให้เกิดเงาดำ เราสามารถพลิกวิกฤติ ให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการถ่ายภาพ แบบ Silhouette หรือ ภาพที่เกิดเงาดำ โดยการปิดแฟลช วัดแสงที่ท้องฟ้า แล้วเลื่อนจัดองประกอบ เทคนิคในการถ่ายภาพแนวนี้ คือหาจุดเด่นเป็นรูปทรงที่เด่นชัด และหากมีน้ำ หรือสิ่งที่สะท้อนเงาของท้องฟ้า และดวงอาทิตย์ได้ จะทำให้ภาพ น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
 
     เปิดเงาดำ ด้วยแสงแฟลช
 
เรียนรู้การถ่ายภาพที่เกิดเงาดำไปแล้ว เรามาเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ถ้าต้องการเปิดเงาส่วนที่มืดด้านหน้า ก็แต่เติมไฟ เปิดแฟลช แต่มีข้อแม้ว่า วัตถุที่ต้องการเปิดเงาดำ ต้องอยู่ใกล้กล้องเพียงพอที่แสงแฟลชจะไปถึง เป็นการสร้างมิติให้กับภาพมากขึ้น กว่าแบบ Silhouette ค่ะ
 
 
      เปลี่ยน ไวท์บาล้านซ์ ให้สีแปลกตา และน่าสนใจ




    สำหรับใครที่เบื่อหน่าย กับภาพพระอาทิตย์ตกดิน สีเหลืองส้ม ก็สามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายในยุคกล้องดิจิตอลได้ ด้วยการเปลี่ยน ไวท์บาล้านซ์ (ในยุคฟิล์มต้องใช้ฟิลเตอร์สี) เมื่อเปลี่ยนไวท์บาล้านซ์ ภาพจะเปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ สร้างความสนุกในการถ่ายภาพ และสามารถเลือกโทนสีภาพได้ตามต้องการ


 
     หากเบื่อกับการจัดองค์ประกอบแบบกว้างเวิ้งว้าง ลองซูมแล้วจัดองค์ประกอบใหม่ 
 
    เมื่อเก็บภาพในมุมกว้าง ก็อย่าลืมซูม เข้าไปใกล้ๆ ให้พระอาทิตย์ดวงใหญ่ และให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากเดิม ข้อควรระวัง คือจำไว้เสมอว่า การซูม ทำให้สปีดชัตเตอร์ลดลงไปด้วย ดังนั้นเพื่อความชัวร์ ควรใช้ร่วมกับขาตั้งกล้องค่ะ 
 
     ใส่ฉากหน้าให้กับภาพ  เพื่อให้ภาพดูไม่หลวม
 
    โดยปรกติ การถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน ภาพมักจะสื่อถึงความเวิ้งว้าง ยิ่งเป็นการถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง แล้วภาพยิ่งดูหลวม เรามีวิธีแก้ด้วยการหาฉากหน้าให้กับภาพ ไม่ว่าจะเป็นดอกหญ้า  โขดหิน หรือแม้แต่มือของเราเอง แค่นี้ภาพก็ดูไม่หลวมแล้วค่ะ



 
     จำไว้เสมอว่า ช่วงเวลานาทีทองที่พระอาทิตย์ ที่เป็นไข่แดงกำลังจะขึ้นหรือตกดิน มีเวลาแค่แป้ปเดียว 
 
    ช่วงพีคของการนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นตกดิน หรือการถ่ายภาพ คงหนีไม่พ้น ช่วงที่พระอาทิตย์อ่อนแสง จนกลายเป็นไข่แดงที่กำลังจะตกน้ำ หรือภูเขา ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที ดังนั้น อย่ามัวรอช้า รีบกดชัตเตอร์ แล้วอย่าลืมละสายตาจากกล้องมาชื่นชมธรรมชาติด้วยตาเปล่าด้วยนะคะ



   ช่วงเวลาที่ฟ้าเปลี่ยนเป็นสีสดสี จะเกิดขึ้นหลังพระอาทิตย์ตกดิน หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ
 
         ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หรือหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว อย่างเพิ่งเก็บกล้อง เพราะช่วงเวลาที่ฟ้าสวยที่สุด จะเกิดขึ้นหลังจากพระอาทิตย์ตก หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะฉะนั้นห้ามพลาดโอกาสนี้เด็ดขาด

    อย่าละเลยที่จะมองฝั่งตรงข้ามกับพระอาทิตย์ที่กำลังจะตกดิน 
 เพราะฟ้าอีกฝั่งก็สวยไม่แพ้กันค่ะ


 

    รู้กันอย่างนี้แล้ว ไปเที่ยวครั้งต่อไป หวังว่าคงได้ภาพพระอาทิตย์ขึ้น และตกดิน สวยๆ มาอวดกันบ้างนะคะ
 


ภาพประกอบ ถ่ายด้วยกล้อง 
SONY CYBER SHOT W 380
SONY CYBER SHOT WX 5
SONY CYBER SHOT TX7
SONY Nex –VG 10

ที่มา:www.klongdigital.com/sony/blog/50801

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น